รายวิชาพระพุทธศาสนา ม.5 เรื่องที่ ๒ พุทธประวัติ


Image result for การตรัสรู้และการก่อตั้งพระพุทธศาสนา
สรุปการตรัสรู้
       พระสิทธัตถะ ได้เสด็จอยู่ตามลำพังทรงฝึกฝนอบรมจิตให้สงบ และในเช้ากลางเดือน 6 ทรงรับข้าว มธุปายาสจากนางสุชาดา ซึ่งเข้าใจว่าพระองค์ว่าเป็นเทพยดาจึงนำข้าวมธุปายาสไปถวาย หลังจากเสวยแล้วพระองค์ได้ทรงลอยถาดในแม่น้ำ
เนรัญชรา ทรงรับหญ้าคา 8 กำ จากนายโสตถิยะมาปูลาดเป็นอาสนะ (ที่นั่ง) ณ โคนต้นโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิผินพระพักตร์
ไปทางทิศตะวันออก แล้วทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าไม่สำเร็จทางพ้นทุกข์จะไม่ยอมเสด็จลุกไปไหนถึงแม้เนื้อและเลือด
จะเหือดแห้งก็ตาม ทรงพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติทั้งหลายจนเกิดญาณ (การหยั่งรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง) สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้เรียกว่า อริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐ) พระสิทธัตถะ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อย่ำรุ่งของคืนวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

วิเคราะห์การตรัสรู้และการก่อตั้งพระพุทธศาสนา

       พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และคำสั่งสอนนี้ ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องของความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นแต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ แล้วนำมาชี้แจงเปิดเผย พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าสภาพธรรม หรือทำนองคลองธรรม เป็นของมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมนั้น ๆ แล้วนำมาบอกเล่าให้เข้าใจชัดขึ้นความจริงหรือสัจธรรมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาตินี้จึงเป็นของกลางสำหรับทุกคน และมิใช่สิ่งที่ประดิษฐ์หรือคิดขึ้นตามอารมณ์เพ้อฝัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตราบใดที่พระองค์ยังมิได้ตรัสรู้ความจริงในลักษณะ 3 อย่าง คือ รู้ตัวความจริง รู้หน้าที่อันควรทำเกี่ยวกับความจริงนั้น และรู้ว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ตราบนั้นพระองค์ก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าตรัสรู้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความจริงนั้นพระองค์ได้ทรงลงมือปฏิบัติจน
ค้นพบประจักษ์แล้ว พระองค์จึงได้นำมาสั่งสอน
สัจธรรมหรือความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น ได้แก่ ทรงรู้แจ้งหรือรู้อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 อย่าง ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

1) ทุกข์ คือความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้
ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง หรือปัญหาของชีวิตทั้งหมด

2) สมุทัย คือสาเหตุของทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 หรือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา หรือสาเหตุของ
ปัญหาชีวิต

3) นิโรธ คือความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา หมดสิ้นตัณหาแล้ว
ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน หรือภาวะหมดปัญหา

4) มรรค คือทางดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มัชฌิมปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ พยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ตั้งจิตชอบ หรือแนวทางแก้ปัญหาชีวิต
Image result for พุทธจริยา


"พุทธกิจประจำวัน 5 ประการและพุทธจริยา 3 ประการ"
               งานการสอนธรรม เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นงานที่ละเอียดประณีต เพราะทรงมุ่งให้เป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่คนทั้งปวงและอำนงยผลให้เป็นความสุข พระพุทธเจ้า จึงทรงมีกิจหลักที่เรียกว่าพุทธกิจ ในแต่ละวันทรงมีพุทธกิจหลัก 5 ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา 3 ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา 3 ประการ ของพระพุทธเจ้าให้สมบูรณ์ คือ
     พุทธจริยาประการที่หนึ่ง โลกัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ในฐานะที่พระองค์เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมโลก ความสำเร็จในจริยาข้อนี้ทรงอาศัยพุทธกิจประจำวัน 5 ประการคือ
     พุทธกิจประการที่ 1 เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ
     พุทธกิจประการที่ 2 ในเวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่คนผู้สนใจในการฟังธรรม
     พุทธกิจประการที่ 3 ในเวลาค้ำทรงประทานพระโอวาทให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย
     พุทธกิจประการที่ 4 ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรม และตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
     พุทธกิจประการที่ 5 ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งประองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น
     พุทธกิจประการที่ ๕ นี้เอง เป็นจุดเด่นในการทำงานของพระพุทธเจ้า จนทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา บางคนมีความรู้สึกว่าทำไมคนแต่ก่อนสำเร็จกันง่ายเหลือเกิน ถ้าศึกษารายละเอียดแล้วจะพบว่าไม่มีคำว่าง่ายเลย เพราะนอกจากจะอาศัยวาสนาบารมีของคนเหล่านั้นเป็นฐานอย่างสำคัญแล้ว การแสดงธรรมของพระองค์นั้น เป็นระบบการทำงานที่มีการศึกษาข้อมูล การประเมินผล การสรุปผลในการแสดงธรรมทุกคราว
     หลังจากที่บุคคลนั้น ๆ ปรากฏในข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าคือทรงรู้ว่าเขาเป็นใคร ? มีอุปนิสัยบารมีอย่างไร ? แสดงธรรมอะไรจึงได้ผล ? หลังจากแสดงธรรมแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ? ดังนั้นการแสดงธรรมทุกครั้งของพระพุทธองค์ จึงบังเกิดผล เป็นอัศจรรย์เพราะจะทรงแสดงเฉพาะแก่ผู้เป็นพุทธเวไนย คือสามารถแนะนำให้รู้ได้เป็นหลัก
     พุทธจริยาประการที่สอง ญาตัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ เช่นการทรงมีพระพุทธานุญาตพิเศษ ให้พรญาติของพระองค์ ที่เป็นเดียรถีย์ (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา) มาก่อน ให้เข้าบวชในพรุพุทธศาสนาได้ โดยไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาสก่อน (ติตถิยปริวาส คือ วิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องประพฤติปริวาส (การอยู่ชดใช้หรืออยู่กรรม) ก่อน ๔ เดือน หรือจนกว่าพระสงฆ์พอใจจึงจะอุปสมาบทได้) หรือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแนะนำให้พระญาติซึ่งกำลังจะทำสงครามกันได้เข้าใจในเหตุผล สามารถปรองดองกันได้
     พุทธจริยาประการที่ ๓ พุทธัตถจริยา ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เช่น ทรงวางสิกขาบทเป็นพุทธอาณา สำหรับควบคุมความประพฤติของผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ทรงแนะนำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตน ทรงวางพระองค์ต่อผู้ที่เข้ามาบวชและแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา ในฐานะของบิดากับบุตร ผู้ปกครองกัลยาณมิตร ศาสดาผู้เอ็นดูเป็นต้น ตามสมควรแก่บุคคลและโอกาสนั้น ๆ จนสามารถประดิษฐานเป็นรูปสถาบันศาสนาสืบต่อกันมาได้
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
วิธีสอนของพระพุทธเจ้า
            พระพุทธเจ้าได้รับยกย่องว่า  ทรงเป็น “ พระบรมครู ”  หรือ “ ศาสดาเอก ”  ในโลกเพราะพระองค์ทรงมีวิธีสอนที่ดีเยี่ยม  ทำให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง  มีคำกล่าวว่า  ถ้าพระพุทธองค์ทรงตัดสินพระทัยจะแสดงธรรมโปรดใคร  เขาผู้นั้นย่อมได้บรรลุมรรคผลไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง  ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ในที่นี้กล่าวถึง  หลักการสอน  วิธีสอนธรรม  และเทคนิควิธีสอนธรรมของพระพุทธองค์โดยสังเขป
1.           หลักการสอน  หมายถึง  หลักการสอนทั่วไป  มีอยู่ 4 ประการ ดงนี้
1.1         แจ่มแจ้ง  อธิบายแจ่มแจ้งดุจนำมาวางให้ตรงหน้า
1.2         จูงใจ  พูดจูงใจอยากปฏิบัติตามที่สอน
1.3         หาญกล้า  ทำให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญ  มั่นใจที่จะปฏิบัติตาม
1.4         ร่าเริง  ให้ผู้ฟังเกิดฉันทะในการฟัง  สนุกสนานไปกับการสอน  ไม่เบื่อ
2. วิธีสอน  วิธีสอนของพระพุทธเจ้ามี  4  แบบ  ดังนี้
2.1  แบบบรรยาย  การสอนแบบนี้นี้ทรงใช้เสมอ  ส่วนมากจะเป็นบรรยากาศที่มีผู้ฟังจำนวนมาก เช่น ที่วัพระเชตวันมหาวิหาร  พระองค์จะเสด็จลงแสดงธรรมเทศนาในช่วงบ่ายของทุกวัน  เมื่อครั้งแสดงธรรมครั้งแรกคือโปรดปัญจวัคคีย์ทรงใช้วิธีบรรยายตั้งแต่ต้นจนจบ
2.2  แบบสนทนา  แบบนี้ทรงใช้บ่อยมาก  อาจเพราะผู้ฟังมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น  ทำให้การเรียนการสอน
2.3   แบบตอบปัญหา  แบ่งย่อยออกเป็น  4  อย่าง  ดังนี้
                               ( 1 )  ตอบตรงไปตรงมา  ไม่อ้อมค้อม  ไม่มีเงื่อนไข  เช่นถ้าถามว่า  ทางพ้นทุกข์คืออะไร  ตอบทันที่เลยว่าทางพ้นทุกข์คืออริยสัจสี่
                                ( 2 )  ย้อนถามก่อนแล้วค่อยตอบ  ปัญหาบางอย่างจะตอบทันทีไม่ได้  ต้องย้อนถามเพื่อความแน่ใจก่อนแล้วค่อยตอบ  เช่นถามว่า  คนเราทำกรรมแล้ว  ตายไปเกิดชาติหน้าจะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์  ต้องย้อนถามว่า  ที่ทำกรรมนั้น  ทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว  ถ้าทำกรรมดีย่อมขึ้นสวรรค์  ถ้าทำกรรมชั่วย่อมตกนรก  ดังนี้เป็นต้น
                                ( 3 )  แยกประเด็นตอบ  บางครั้งก็แยกตอบเป็นเรื่องๆ  เป็นประเด็นๆไป  ยกตัวอย่าง  มีผู้ถามพระพุทธองค์ว่า  พระองค์ตำหนิตบะ ( ความเข้มงวด )ทุกอย่างหรือไม่  พระพุทธองค์ทรงแยกแยะประเด็นตอบว่า  ถ้าเป็นความเข้มงวดแบบทรมานตัวเองให้ลำบากต่างๆนานา  พระพุทธองค์ทรงตำหนิ  แต่ถ้าเป็นความเข้มงวดแบบธุดงควัตรพระองค์ทรงสรรเสริญ
                                ( 4 )  แบบตัดประเด็นหรือไม่ตอบ  มีปัญหาบางอย่างที่พระองค์ไม่ทรงตอบเรียกว่า อัพยากตปัญหา เช่น ถามว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง  โลกมีที่สุดหรือไม่  พระอรหันต์ตายไปแล้วยังคงอยู่หรือไม่  เหตุผลที่ไม่ทรงตอบ  เพราะว่า  แม้จะรู้หรือไม่รู้  ก็ไม่ทำให้ทุกข์ที่มีอยู่เพิ่มขึ้นหรือลดลง   ในบางกรณีที่ผู้ถามต้องการให้ทรงขัดแย้งกับคนอื่น  พระองค์ไม่ทรงตอบ  เช่น ชาวกาลามะ  แห่งหมู่บ้านเกสปุตตนิคม  เล่าว่ามีเจ้าลัทธิต่างๆที่ผ่านมาต่างก็ดูถูกลัทธิของคนอื่นว่าผิด ของตนถูกต้อง  แล้วทูลถามพระองค์ว่า  พวกไหนสอนถูก  พวกไหนสอนผิด   พระองค์ตรัสว่า  ใครจะสอนถูกสอนผิดช่างเถิด  เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง
3.     เทคนิควิธีสอน  พระพุทธเจ้าทรงใช้เทคนิคการสอนหลากหลาย  คือ
3.1  ทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรม  หรือ ทรงทำของยากให้ง่าย ”   ธรรมะเป็นนามธรรมละเอียดอ่อนเข้าใจยาก พระองค์ทรงมีเทคนิควิธีทำให้ง่ายขึ้น  ซึ่งทำได้หลายวิธี  เช่น

                                ( 1 )  ใช้อุปมาอุปไมย  บางเรื่องที่พึงรู้ได้ด้วยอุปมาอุปไมย  พระองค์ทรงใช้  เช่น  ตรัสบอกเหล่าสาวกของพระองค์ว่า ธรรมะที่ทรงตรัสรู้นั้นมีมากดุจใบไม้ในป่า  แต่ทรงนำมานิดเดียวเฉพาะที่จำเป็นจะต้องรู้  ดุจใบไม้ในกำมือดังนี้  เป็นต้น
                                ( 2 )  ยกนิทานประกอบ  ทรงยกนิทานชาดก ( เรื่องราวของพระองค์เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์  บำเพ็ญบารมีในชาติก่อนๆ ) เช่น  พระเวสสันดรชาดก  หรือทรงนำนิทานพื้นบ้านโบราณมาเล่าให้ฟัง  ดังเรื่อง   ตาบอดคลำช้างแปดคนต่างคนต่างคลำแต่ละส่วนของช้าง  แล้วเข้าใจว่าตนรู้จักช้างดี  จึงทะเลาะทุบตีกัน  แล้วสรุปว่า คนที่รู้เห็นเพียงบางแง่มุมมักจะทะเลาะทุ่มเถียงกันเพราะทิฐิ ( ความเห็น )
( 3 )  ใช้สื่อการสอน  พระพุทธองค์ทรงใช้สื่อการสอนเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจนขึ้น  ดังทรงสอนสามเณรราหุลเรื่องโทษของการพูดเท็จทั้งที่รู้  โดยทรงใช้ขันตักน้ำเทลงทีละนิดจนหมดขันแล้วคว่ำขันลง  แล้วทรงยกขันเปล่าขึ้น  ตรัสสอนว่า  คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ย่อมเทความดีงามออกทีละนิดจนหมดไปในที่สุด  อีกครั้งหนึ่งทรงใช้แว่นส่องหน้าเป็นสื่อในการสอนเรื่อง  สติสัมปชัญญะ  แว่นมีไว้ส่องดูใบหน้าฉันใด   สติสัมปชัญญะก็มีไว้กำกับตนเพื่อส่องดูเรื่องที่คิด  การที่ทำและคำที่พูดฉันนั้น
3.2   ทำตนให้เป็นตัวอย่าง  ในแง่การสอนอาจแบ่งได้เป็น 2 อย่าง   คือ
                            ( 1 )  สาธิตให้ดูหรือทำให้ดู  ดังเมื่อครั้งพระองค์ทรงสั่งให้พระอานนท์ผสมน้ำอุ่น  แล้วทรงใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดร่างกายของพระภิกษุรูปหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคพุพอง  มีหนองไหลเยิ้ม  ไม่มีเพื่อนภิกษุดูแล  ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วตรัสสอนว่าพวกเธอมาบวชในศาสนาของตถาคต  ไม่มีพ่อไม่มีแม่  เมื่อพวกเธอไม่ดูแลกันเองในยามป่วยไข้  แล้วใครจะดูแล
                           ( 2 )  ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง  พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ที่ปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างที่ดี  จึงได้รับการยกย่องว่า  เป็นพระบรมครู  เป็นศาสดาเอกในโลก
             3.3   ทรงเลือกใช้คำให้เหมาะสม  คำศัพท์ที่คนสมัยนั้นใช้อยู่แล้ว  เช่น  คำว่า พราหมณ์  ภิกษุ เทพ เป็นต้น  พระองค์ทรงนำเอามาใช้สอนธรรม  แต่ให้ความหมายใหม่  วิธีนี้ทำให้ผู้ฟังให้ความสนใจและเข้าใจได้ง่ายเพราะได้เทียบเคียงกับความหมายเดิม
                ครั้งหนึ่งพราหมณ์คนหนึ่งมาชวนให้พระพุทธเจ้าไปอาบน้ำ  อ้างว่าอาบน้ำในท่าศักดิ์สิทธิ์แล้วจะหมดบาปได้ขึ้นสวรรค์  พระองค์ทรงแย้งว่า  ถ้าความบริสุทธิ์มีได้ด้วยน้ำมนุษย์ก็บริสุทธิ์สู้กุ้ง  หอย  ปู  ปลาไม่ได้  เพราะสัตว์เหล่านั้นอาบน้ำอยู่ตลอดเวลา  ครั้นพราหมณ์ถามว่า  พระองค์ไม่สรรเสริญการอาบน้ำหรือ  พระองค์ตอบว่า สรรเสริญ  แล้วทรงให้ความหมายของการอาบน้ำใหม่ว่า  เป็นการอาบกาย  วาจา  ใจ  ด้วยศีล  สมาธิ  ปัญญา3.5  ยืดหยุ่นในการใช้เทคนิควิธี  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ  พระพุทธเจ้าตรัสกับคนฝึกม้าชื่อเกสี  ว่าพระองค์ทรงใช้เทคนิควิธีฝึกสาวกของพระองค์  เช่นเดียวกับที่เกสีฝึกม้า  คือ  บางครั้งก็ทรงใช้วิธีนุ่มนวล  บางครั้งเข้มงวด  บางครั้งผสมผสานระหว่างทั้งสองวิธี  ถ้าไม่สำเร็จ  พระองค์ก็ทรง ฆ่าทิ้ง ดุจนายเกสีฆ่าม้าที่ฝึกไม่ได้  แต่การฆ่าของพระองค์  หมายถึง ไม่พูดด้วย  ไม่ว่ากล่าวตักเตือน  หรือ คว่ำบาตร ให้ผู้นั้นสำนึกตนในภายหลัง
3.4  รู้จังหวะและโอกาส  คือ รอให้ผู้ฟังมีความพร้อมเสียก่อนแล้วค่อยสอน  ดังกรณีเด็กหนุ่มชื่อ  วักกลิมาบวชเพราะติดใจในความงามแห่งพระวรกายของพระพุทธองค์  ไม่สนใจปฏิบัติธรรม  ได้แต่คอยเฝ้ามองพระพุทธองค์ด้วยความชื่นชม  พระองค์ทรงรอให้เธอมีความพร้อมเสียก่อนแล้วตรัสเตือนสติประทานโอวาท  จนสำเร็จพระอรหันตผลในที่สุด
3.5  ยืดหยุ่นในการใช้เทคนิควิธี  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ  พระพุทธเจ้าตรัสกับคนฝึกม้าชื่อเกสี  ว่าพระองค์ทรงใช้เทคนิควิธีฝึกสาวกของพระองค์  เช่นเดียวกับที่เกสีฝึกม้า  คือ  บางครั้งก็ทรงใช้วิธีนุ่มนวล  บางครั้งเข้มงวด  บางครั้งผสมผสานระหว่างทั้งสองวิธี  ถ้าไม่สำเร็จ  พระองค์ก็ทรง ฆ่าทิ้ง ดุจนายเกสีฆ่าม้าที่ฝึกไม่ได้  แต่การฆ่าของพระองค์  หมายถึง ไม่พูดด้วย  ไม่ว่ากล่าวตักเตือน  หรือ คว่ำบาตร ให้ผู้นั้นสำนึกตนในภายหลัง
3.6  เสริมแรง  เพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งการสั่งสอน  การเสริมแรงเป็นสิ่งจำเป็น  การตรัสชมเชยพระสาวกของพระสาวกบางรูปให้สงฆ์ฟัง  เป็นการเสริมแรงให้ท่านผู้นั้นมีฉันทะในการปฏิบัติธรรมสูงขึ้นตามลำดับ  แม้การทรงตั้งตำแหน่ง เอตทัคคะ ”( ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น ) ให้แก่พระสาวกที่มีความถนัดและความสามารถพิเศษเฉพาะด้านก็นับเป็นการเสริมแรงเช่นเดียวกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ใบความรู้คุณค่าของวัฒนธรรมไทย

คำอธิบายรายวิชา โครงสร้างรายวิชา รายวิชาประวัติศาสตร์ ม.2 รหัส ส22161

รายวิชาประวัติศาสตร์ ม.2 การประเมินค่าและการตีความหลักฐาน